วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี นำโดย นายบัญชา กันหาสินธุ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี จัดกิจกรรมแถลงข่าวการจัดงานทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2567 ณ ห้องประจักษ์ตราเฟิร์สคลาส 1 โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล อุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี , นางนงลักษณ์ ซุ้นหั้ว นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุดรธานี , นายประเทือง เพชรโรจน์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี , นายพูนเกียรติ พุทธรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี , พันตำรวจเอก พิเชฐ วงษ์บุรี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี
งานแถลงข่าว ได้รับการสนับสนุนจัดแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดอุดรธานี จาก สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี มีการจัดแสดงมงกุฎและสายสะพาย ธิดาผ้าหมี่-ขิด ประจำปี 2567 จาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี พร้อมการแสดงเชิดสิงโต เอ็งกอ จากมูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี โดยมี รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุดรธานี ปลัดจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่าง ๆ และสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม อันดีงามมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ตั้งแต่ตั้งเมืองอุดรธานี เมื่อ ร.ศ.112 หรือ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2436 เป็นต้นมา แต่ยังไม่มีกิจกรรมใดที่พอจะเป็นเอกลักษณ์ร่วมกันของชาวอุดรธานีทั้งจังหวัด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 สมัย นายจินต์ รักการดี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ริเริ่มจัดงานบวงสรวงสักการบูชาและนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่ปกป้องคุ้มครองให้พี่น้องชาว จ.อุดรธานี ได้มีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา พร้อมเฉลิมฉลองงานบวงสรวง ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ณ บริเวณสนามทุ่งศรีเมือง โดยใช้ชื่องานว่า “งานทุ่งศรีเมือง”
สำหรับปีนี้ จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดอุดรธานี ส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน กำหนดจัดงานภายใต้ชื่อ “งานทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุดรธานี ประจำปี พ.ศ. 2567” ระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2567 ณ สนามทุ่งศรีเมืองอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสืบสานการจัดงานทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดอุดรธานี ให้ดำรงคงอยู่กับสังคมและวิถีชีวิตของชาวจังหวัดอุดรธานีสืบไป เป็นโอกาสในการบวงสรวง สักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่ประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี เคารพนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน และประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวประชาชนให้เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานีเพิ่มมากขึ้น
โดยจัดแสดงให้ผู้มาเที่ยวงานและท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี เข้าชมฟรี เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมให้บริการประชาชนและประชาสัมพันธ์ภารกิจของหน่วยงาน ตลอดจนสร้างความตระหนักและความภาคภูมิใจให้แก่ประชาชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ และสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้าน การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ล้ำค่าของประชาชนในจังหวัดและในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
การจัดงานปีนี้ มีกิจกรรมมากมายให้ท่านได้ชมและร่วมกิจกรรม อาทิ การประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง, ขบวนแห่และพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่, นิทรรศการแสดงผลงานส่วนราชการ, นิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ของดีเมืองอุดร 20 อำเภอ, การจำหน่ายสินค้า OTOP, นิทรรศการวิถีคนวิถีควาย, การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน, การประกวดธิดาผ้าหมี่-ขิด, คอนเสิร์ต, เครื่องเล่น, นิทรรศการพืชสวนโลก เป็นต้น สำหรับกิจกรรมการออกสลากกาชาดสมนาคุณ และการออกร้านมัจฉากาชาด ยังคงมีให้ทุกท่านได้ร่วมลุ้นรางวัลเช่นเคย การจัดงานคงไว้ซึ่งกิจกรรมที่เป็นการสืบสานและเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชาวอีสานและชาวอุดรธานีให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย สร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ไปพร้อม ๆ กับการเสริมสร้างบรรยากาศและโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการที่โดดเด่นของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าหมี่ขิด ที่ปรากฏอยู่ในคำขวัญจังหวัด ที่ว่า “กรมหลวงประจักษ์สร้างเมือง ลือเลื่องแหล่งธรรมะ อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่ขิด ธรรมชาติเนรมิต ทะเลบัวแดง แรงศรัทธาศรีสุทโธปทุมมาคำชะโนด”
จังหวัดอุดรธานี ขอเชิญชวนชาวอุดรธานีร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยว เที่ยวชมงานและร่วมกิจกรรม ในงานทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2567 โดยยังคงปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, โรคทางเดินหายใจ และโรคอื่น ที่อาจจะแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เชิญชวนทุกท่านมาร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่นอีสาน ต่อยอดวัฒนธรรมพื้นบ้าน มรดกภูมิปัญญาล้ำค่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วยกัน