วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายธีระชัย แสนแก้ว , นางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร รอง ปธ.กมธ. และคณะกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎรเดินทางมาติดตามการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล โดยมีนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รอง ผวจ.อุดรธานี หัวหน้าคณะทำงานศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบที่ประเทศอิสราเอลจังหวัดอุดรธานี นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดอุดรธานี เลขานุการคณะทำงาน 5 เสือในสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยที่เกี่ยวข้องชี้แจง
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ผวจ.อุดรธานีมีคำสั่งให้ตั้งศูนย์ประสานงานระดับจังหวัด และอำเภอ มอบให้ตนเป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัด เป็นเลขาฯ นำฝ่ายปกครองบูรณาการกับ 5 เสือกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่น เพราะมีแรงงานชาวอุดรธานี ไปทำงานถูกกฎหมาย 4,042 คน มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่านั้น โดยได้ร่วมออกแบบการสำรวจ รวบรวมข้อมูลจากแรงงานทุกคน สร้างขวัญกำลังใจ ป้องกันความสบสน และเตรียมให้การช่วยเหลือด้านอาชีพด้วย
นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดฯ รายงานว่า ศูนย์ประสานงาน 20 อำเภอ จะรับข้อมูลชื่อ-สกุล-ที่อยู่ แรงงานในพื้นที่ ทีมงานลงพบครอบครัวแรงงาน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของแรงงาน ตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง การเสียชีวิต บาดเจ็บ ถูกกักตัว แรงงานเดินทางกลับ และศพแรงงานถูกส่งกลับ ตลอดจนการทำพิธีทางศาสนา ผวจ.อุดรธานี เดินทางไปเป็นประธานพิธีทุกราย ตลอดจนการแจ้งสิทธิคนงานแต่ละคน “ ข้อมูลถึงวันนี้ มีแรงงานชาวอุดรฯเสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 4 ราย เดินทางกลับมาแล้ว 1,037 คน ยังไม่เดินทางกลับ 3,005 ราย แยกเป็นถูกควบคุมตัว 5 ราย สูญหาย 2 ราย สงสัยตรวจ DNA 11 ราย จากการสอบถามญาติ และแรงงานในอิสราเอล ผ่านระบบสื่อสาร มีแรงงานยังต้องการกลับอีก 258 ราย ต้องการอยู่ต่อ 1,208 ราย และอยู่ระหว่างตัดสินใจ 1,520 ราย มีเหตุผลว่าอยู่ไกลจากพื้นที่สงคราม นายจ้างสร้างหลุมหลบภัย และเพิ่มค่าแรงให้ ”
นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดฯ กล่าวว่า มีแรงงานบาดเจ็บอยู่อิสราเอล 1 คน เดินทางกลับมา 3 คน ได้ให้เข้ารับการตรวจรักษาที่ รพ.ของรัฐ เพื่อให้แพทย์รับรองอาการ ใช้ขอรับชดเชยจากอิสราเอล ขณะแรงงานจำนวนมาก ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มอบหมายฝ่ายปกครอง ไปสอบสวนรับรองสถานะ ว่าทั้งสองอยู่กินฉันท์สามีภรรยาจริง เพราะเกรงว่าจะส่งผลกับค่าชดเชย-เยียวยาจากอิสราเอล ที่ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร
นายบรรจง อุนารัตน์ แรงงานจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า มีแรงงานเดินทางกลับมาร้องขอการช่วยเหลือ 283 ราย มากที่สุดคือการติดตามค่าจ้างค้างจ่ายและเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างนอกจากนี้มีเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น คือ การจ่ายซื้อตั๋วเครื่องบินการจ่ายค่าแท็กซี่มาสนามบินในอิสราเอล สำหรับกรณีแรงงานเสียชีวิตได้ไปอำนวยความสะดวกที่บ้าน ซึ่งล่าสุดอิสราเอลเพิ่มแบบฟอร์มใหม่ให้เป็นแบบภาษาอังกฤษซึ่งจะต้องแก้ไขต่อไป
ว่าที่ รท.อนุเทพ ศรีดาวเรือง จัดหางาน จ.อุดรธานี กล่าวว่า มีแรงงานจากอิสราเอลเดินทางกลับมาแสดงตัวขอรับเงินชดเชยกองทุนกรณีภัยสงครามคนละ 15,000 บาท 1,061 คน โดยเป็นแรงงานนอกพื้นที่ 90 คน กำลังทยอยพิจารณาจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร ในจำนวนนี้มีผู้ประสงค์กลับไปทำงาน 509 คน ไม่ประสงค์เดินทางกลับไป 552 คน ทั้งนี้แรงงานเหล่านี้เดินทางกลับจากรัฐส่งกลับ 834 คน เดินทางกลับเอง 227 คน
นางภัททิรา ครุฑกุล ประกันสังคม จ.อุดรธานี กล่าวว่า ผู้บาดเจ็บ 4 ราย ไม่มีการประกันตนหรือไม่ต่อประกันตนมีอยู่ 1 ราย จะได้มีเงินชราภาพเมื่ออายุ 55 ปี สามารถรับเงินชราภาพได้ ขณะผู้เสียชีวิต 9 ราย ได้รับสิทธิประกันตน 8 ราย ได้จ่ายประกันตนไปแล้ว 4 ราย เบี้ยชราภาพ 7 ราย ส่วนอีก 1 รายไม่ได้ประกันตน
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.เดินทางมาอุดรธานีเป็นจังหวัดแรก เพราะที่นี่มีแรงานไปอิสราเอลมาก เมื่อเดินทางลงดูพื้นที่ และรับฟังรายงานจากผู้รับผิดชอบ ตลอดจน ส.ส.ในพื้นที่ ก็เห็นว่าโมเดลของอุดรธานี ทำได้ดีและละเอียดหลายแง่มุม มากน่าจะเอาไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นด้วย คำถามตอนนี้ก็คือ “เราจะดำเนินการอะไรต่อ” เพราะนี่คือสถานการณ์พิเศษ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ระเบียบวิธีการต่างๆไม่เคยมี จึงนำเสนอหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินงาน ในการที่จะเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาหรือแก้ไขกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวสะดวกขึ้นคณะกรรมาธิการยินดีจะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวไปสู่กระทรวงแรงงานต่อไป
ข้อมูลข่าว : ศรีภูมิทองใหญ่ ณ อยุธยา สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี
ภาพข่าว : วชิร คำสืบ