เสาร์. ธ.ค. 28th, 2024

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่สาธารณประโยชน์หนองแด อำเภอเมืองอุดรธานี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี เตรียมการจัดงานพืชสวนโลกที่กำหนดจัดขึ้นในปี 2569 หลังจังหวัดอุดรธานี ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี บรรยายสรุปการเตรียมพื้นที่ร่วมกับและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานีเชื่อมั่นว่า การจัดงานจะประสบความสำเร็จอย่างดี ทำให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ และช่วยสร้างเศรษฐกิจ อาชีพ และรายได้ที่ดีให้กับชาวจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดข้างเคียง

จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะเดินทางไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ( ศวพ.อุดรธานี) ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี (ศวพ.อุดรธานี) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีนโยบายให้หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร เร่งรัดดำเนินการงานวิจัยเพื่อนำผลงานวิจัยไปพัฒนาการผลิตพืชของเกษตรกร ให้เป็นการผลิตที่ปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน และยกระดับสู่การผลิตแบบอินทรีย์ในกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชให้เกษตรกรอีกทั้งได้มอบนโยบายเน้นย้ำให้งานวิจัยต้องตอบโจทย์ความต้องการใช้ของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่เป็นหลักควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนาด้านวิชาการของกรมวิชาการเกษตรที่เล็งเห็นว่าในพื้นที่มีพืชใดที่เหมาะสมให้ผลตอบแทนสูงการป้องกันแมลงศัตรูพืชและปุ๋ยที่เหมาะสมกับชนิดพืชเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับการผลิตไปสู่ตลาดคุณภาพและการส่งออกให้ได้เร็วที่สุดโดยกรมวิชาการเกษตรต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับประชาชนเพื่อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
สำหรับงานวิจัยที่สำคัญของศูนย์วิจัยฯ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ถั่วลิสง และบัวหลวง โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชสร้างรายได้ให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และบริเวณจังหวัดริมแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิจัยฯ มีโครงการทดสอบและพัฒนาพืชพลังงานเพื่อผลิตไบโอดีเซลและเอทานอล โดยนำพันธุ์ปาล์มน้ำมันของกรมวิชาการเกษตรทั้ง 6 พันธุ์ คือ พันธุ์สุราษฎร์ธานี 1-6 มาทดสอบปลูกเปรียบเทียบผลผลิตพบว่าให้ผลผลิตดี และในปี 2562- 2564 มีการวิจัยและขยายผลนวัตกรรมการผลิตปาล์มน้ำมันด้วยการจัดการที่เหมาะสมยกระดับผลผลิต

โดยการจัดการสวนที่เหมาะสมระดับชุมชนตามศักยภาพพื้นที่ดำเนินการใน 1 ชุมชนต้นแบบ 20 แปลงรวม 100 ไร่ โดยศูนย์วิจัยฯ จะแนะนำการปลูกทุกขั้นตอน ส่งผลให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ศวพ.อุดรธานี ยังผลิตพืชพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร 2 ชนิด ได้แก่ อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 และถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 และพันธุ์ขอนแก่น 6 กระจายให้เกษตรกรในพื้นที่ นำไปปลูกได้เป็นพื้นที่กว่า 900 ไร่ รวมทั้งผลิตชีวภัณฑ์ จำนวน 6 ชนิด เพื่อให้เกษตรกรใช้ทดแทนสารเคมี อย่างไรก็ตาม นอกจากงานวิจัยแล้วกรมวิชาการเกษตรยังได้มีนโยบายที่จะให้นำสวนยางพารา ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นเข้าโครงการคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอีกทางหนึ่ง เบื้องต้นได้หารือกับศวพ.หนองคาย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 69,588 ไร่ เพื่อหาแนวทางที่จะนำพื้นที่สวนยางพาราในจังหวัดเข้าโครงการดังกล่าว

โอกาสนี้นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวพบปะและมอบนโยบายหน่วยงานในสังกัด มอบปัจจุยการผลิตแก่กลุ่มเกษตรกร และเยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงานของศูนย์วิจัยฯ โครงการทดสอบและพัฒนาพืชพลังงานเพื่อผลิตไบโอดีเซล โครงการวิจัยพัฒนาและขยายผลนวัตกรรมการผลิตปาล์มน้ำมันด้วยการจัดการที่เหมาะสม โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตมะม่วงนอกฤดูจังหวัดอุดรธานี งานผลิตพันธุ์พืชการขยายผลชีวภัณฑ์สู่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โครงการศูนย์สาธิตการพัฒนาเกษตรแบบผสมผสานบ้านยามกาน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และงานสารวัตรเกษตร และปล่อยขบวนรถสารวัตรเกษตร ออกปฏิบัติงานควบคุมปัจจัยการผลิตให้มีคุณภาพ รับฤดูกาลผลิตใหม่

ทีมข่าว ส.ปชส.อด.
ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ข่าว/ภาพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *